นิเทศการสอนครู ปี 63
ความเป็นมาและความสำคัญของการสังเกตการสอน
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2545 มีแนวการจัดการศึกษาตาม มาตรา 22 การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถ เรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ และมาตรา 24 (5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ (กระทรวงศึกษาธิการ : 2544)
การจัดการศึกษาของสถานศึกษาให้เกิดคุณภาพนั้น ควรต้องประกอบด้วย 3 กระบวนการด้วยกัน คือ กระบวนการบริหาร กระบวนการเรียนการสอน และกระบวนการนิเทศการศึกษาการนิเทศการศึกษา เป็นการชี้แจง การแสดง หรือการแนะนำเกี่ยวกับการสอนและการอบรม การนิเทศการศึกษาเป็นภารกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ดังจะเห็นได้จากเหตุผลความจำเป็นในหลายประการ เช่น ความเปลี่ยนแปลงของสังคม ความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว บุคลากรในหน่วยงานทางการศึกษาจำเป็นต้องปรับปรุงตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อจะได้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือและพัฒนางาน ให้ทันต่อสภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หน่วยงานทางการศึกษาทุกระดับมีเป้าหมายในการปฏิบัติงานร่วมกันคือ พัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องใช้กระบวนการบริหารจัดการ กระบวนการเรียนการสอน และกระบวนการนิเทศ เพื่อจะได้ช่วยส่งเสริม สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน การนิเทศการศึกษาจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยเหลือสนับสนุนให้กระบวนการบริหาร และการบวนการเรียนการสอนมีคุณภาพถึงระดับที่พึงประสงค์ (ชัด บุญญา : 2538)
การนิเทศการศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนา ปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาในสถานศึกษา ให้ครูมีความรู้ ความเข้าใจในหลักสูตร สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการบริหารจัดการ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและปัญหาอื่นๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา ข้าพเจ้าจึงได้ดำเนินการสังเกตการจัดการเรียนรู้ขึ้น